รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙ ------------- |
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นปีที่ ๕๑ ในรัชกาลปัจจุบัน |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรด เกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ ยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙"
มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๕) (๑๖) และ (๑๗) ของ มาตรา ๑๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘ "(๑๕) การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ อัฏฐ และมาตรา ๒๑๑ ทศ วรรคสาม (๑๖) การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคสาม (๑๗) การให้ความเห็นชอบญัตติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามมาตรา ๒๑๑ เอกูนวีสติ"
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑๒ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๒๑๑ ทวิ ถึงมาตรา ๒๑๑ เอกูนวีสติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘ "หมวด ๑๒ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ---------------- มาตรา ๒๑๑ ทวิ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้ (๑) สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๒๑๑ ฉ ให้ได้จังหวัดละหนึ่งคน (๒) สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ จำนวน ยี่สิบสามคน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวนแปดคน (ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวนแปดคน (ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือ การร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด จำนวนเจ็ดคน
มาตรา๒๑๑ ตรี บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (๔) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลา ติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง มาตรา ๒๑๑ จัตวา บุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ได้แก่บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๑๓ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) และ (๑๒) (๒) เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือข้าราชการการเมือง (๓) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ (๔) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของ ราชการส่วนท้องถิ่น
มาตรา ๒๑๑ เบญจ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๑๑ ตรี (๑) (๒) และ (๓) และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๒๑๑ จัตวา (๑) และ (๒) มาตรา ๒๑๑ ฉ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตาม มาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามหมวดนี้ ผู้ใดประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ให้ยื่นใบสมัครพร้อมด้วยหลักฐานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือที่ตนเกิด ตามแบบและภายในกำหนดวันและเวลาที่กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดวันรับสมัครให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและเห็นว่า ถูกต้องแล้ว ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินสิบคนให้ส่งรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเกินสิบคน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการประชุมพร้อมกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อ ลงคะแนนเลือกตั้งกันเองโดยลงคะแนนลับ และผู้สมัครแต่ละคนให้มีสิทธิลงคะแนนเลือก ผู้สมัครด้วยกันเองได้คนละไม่เกินสามคน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งรายชื่อพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานของผู้สมัคร รับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุด ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการ ต่อไป ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันอันเป็นเหตุให้มีจำนวนเกินสิบคน ให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันนั้น เพื่อให้ ได้ผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดจำนวนสิบคน ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้ แล้วเสร็จและส่งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวันนับแต่วันที่ พ้นกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยแยกเป็นรายชื่อของแต่ละจังหวัด และให้เรียงรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งของ แต่ละจังหวัดตามลำดับอักษร เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๒๑๑ อัฏฐ
มาตรา ๒๑๑ สัตต ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการให้ปริญญาในสาขาวิชา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ ที่จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒) ในประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒) (ก) (ข) และ (ค) ประเภทละไม่เกินห้าคน โดยจัดทำ เป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภทพร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด และส่งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวันนับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งตาม มาตรา ๒๑๑ ฉ และให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อของบุคคลที่สภาสถาบัน อุดมศึกษาต่าง ๆ ส่งมาแยกเป็นประเภทแต่ละบัญชีโดยให้เรียงรายชื่อตามลำดับอักษร
มาตรา ๒๑๑ อัฏฐ เมื่อประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๒๑๑ ฉ วรรคหก และได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลตามมาตรา ๒๑๑ สัตต แล้ว ให้จัดให้มีการประชุมร่วมกัน ของรัฐสภาภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อครบถ้วน ให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครจากบัญชี รายชื่อจากจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดละหนึ่งคน และเลือกตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่สภาสถาบัน อุดมศึกษาส่งมาตามจำนวนแต่ละประเภทตามจำนวนที่กำหนดในมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒) การลงคะแนนดังกล่าวให้กระทำเป็นการลับ ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งจากแต่ละจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ซึ่งได้ คะแนนสูงสุดตามลำดับตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑๑ ทวิ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้จะมี จำนวนผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเกินจำนวนดังกล่าว ให้ดำเนินการลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ได้รับ คะแนนเท่ากันนั้น ถ้ายังมีคะแนนเท่ากันอีก ให้ประธานรัฐสภาทำการจับสลากว่าผู้ใดเป็น ผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ ให้ประธานรัฐสภากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อวินิจฉัยปัญหา ดังกล่าว ให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๑๑ นว ในกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการใดตามหมวดนี้ในระหว่าง ปิดสมัยประชุมรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการ เรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบ สภาผู้แทนราษฎรและมีกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการใดภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามหมวดนี้ มิให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมี การยุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี จนถึงวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมเข้าในระยะเวลาที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการ
มาตรา๒๑๑ ทศ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) หรือ (๒) เริ่มตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภา สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) หรือ (๒) สิ้นสุดลงเมื่อ (๑) สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๑๑ อัฏฐารส (๒) ตาย (๓) ลาออก (๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๑๑ ตรี หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๒๑๑ จัตวา หรือตามมาตรา ๒๑๑ เบญจ แล้วแต่กรณี เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) หรือ (๒) ว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามมาตรา ๒๑๑ อัฏฐารส ให้รัฐสภา ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในกำหนดเวลา สามสิบวันจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ประธานรัฐสภาจัดทำตามมาตรา๒๑๑ฉ วรรคหก หรือตามมาตรา ๒๑๑ สัตต เว้นแต่ระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ เตรส จะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน ในกรณีที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ที่รัฐสภา เลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งของจังหวัดใดว่างลงและไม่มีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง รายอื่นในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของจังหวัดนั้นแล้ว หรือในกรณีที่สมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒) (ก) (ข) หรือ (ค) ประเภทใดประเภทหนึ่ง ว่างลง และไม่มีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ตามบัญชีรายชื่อในประเภทที่ว่างลง นั้นแล้ว ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปโดยไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งแทน ตำแหน่งที่ว่างนั้น แต่ทั้งนี้สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) และ (๒) มาตรา ๒๑๑ เอกาทศ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คนหนึ่งและรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่ง สภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาร่าง รัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ รองประธานมีอำนาจหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมาย และ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เมื่อประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภาร่าง รัฐธรรมนูญเลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
มาตรา ๒๑๑ ทวาทศ เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ของประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและ กรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๒๑๑ เตรส สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครบจำนวนตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ การที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นเหตุ กระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความคิดเห็น ของประชาชนเป็นสำคัญ ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้ ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคสี่ ให้ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นอันตกไป
มาตรา ๒๑๑ จตุทศ วิธีการพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การประชุม การลงมติ การแต่งตั้งกรรมาธิการและการดำเนินการของกรรมาธิการ การรักษาระเบียบ และความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของหมวดนี้ ให้ใช้ข้อบังคับ การประชุมของรัฐสภาโดยอนุโลม ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๙ และมาตรา ๑๓๐ มาใช้กับการประชุมของสภาร่าง รัฐธรรมนูญโดยอนุโลม เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๑ และมาตรา ๑๓๒ และความคุ้มกันที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๔๑ ให้นำมาใช้บังคับกับการประชุมของ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการโดยอนุโลม
มาตรา ๒๑๑ ปัณรส เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีสิทธิเข้าชี้แจงประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ ให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะ แก้ไขเพิ่มเติมประการใดมิได้ การลงมติให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เมื่อรัฐสภาลงมติให้ ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทาน คืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอันตกไป ในกรณีที่มีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ดำเนินการจัดให้มีประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียง ลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอ มาตรา ๒๑๑ โสฬส ในกรณีที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ตามมาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคห้า ให้ประธานรัฐสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดวัน ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ซึ่งจะต้องไม่ก่อนเก้าสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศ ทั้งนี้ วันออกเสียงประชามติต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ในการออกเสียงประชามติ หากผลปรากฏว่าประชาชนโดยเสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๒๑๑ สัตตรส แต่ถ้าเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เป็นจำนวนไม่ถึงหนึ่งในห้าของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอันตกไป
มาตรา๒๑๑ สัตตรส เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๓ และมาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มาตรา ๒๑๑ อัฏฐารส สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) สภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา ๒๑๑ ทศ วรรคสี่ (๒) สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ระยะเวลาตามมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคหนึ่ง (๓) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้บังคับ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๔) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปตามมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคห้า มาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคสี่ มาตรา ๒๑๑ โสฬส วรรคสี่ หรือมาตรา ๒๑๑ สัตตรส ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้ดำเนินการ จัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามหมวดนี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นสุด ระยะเวลาตามมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญชุดเดิมจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่ได้ มาตรา ๒๑๑ เอกูนวีสติ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เมื่อรัฐสภามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการเสนอญัตติ ตามวรรคหนึ่งอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่"
มาตรา ๕ ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มี การรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑๑ ฉ ให้แล้วเสร็จ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี |
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรจัดให้มีวิธี การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับเพื่อเป็น พื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมือง โดยให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบ ด้วยบุคคลจากหลายสาขาอาชีพเป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงโครง สร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียงประชามติได้ด้วย ทั้งนี้ โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ (ร.จ. เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๕๓ ก หน้า ๑ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๙) |